ศควรรษที่ 19 ของ ประวัติศาสตร์สหรัฐ

สมัยของประธานาธิบดีโธมัส เจฟเฟอร์สัน (ค.ศ. 1801 - 1809)

โธมัส เจฟเฟอร์สัน ประธานาธิบดีคนที่สามของสหรัฐแผนที่แสดงการซื้อหลุยเซียนาในค.ศ. 1803

การปกครองของรัฐบาลเฟเดอรัลลิสต์ที่กดขี่ทำให้พรรคเฟเดอรัลลิสต์มีความนิยมที่เสื่อมลง โธมัส เจฟเฟอร์สัน จากพรรครีพับบลีกัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนที่สามและสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งใน ค.ศ. 1801 ประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันได้ชื่อว่าเป็นผู้ส่งเสริมแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพอย่างมาก ตามหลักประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สัน (Jeffersonian Democracy) มีแนวความคิดในการตีความรัฐธรรมนูญแบบเคร่งครัดตามตัวอักษร มีนโยบายกระจายอำนาจสู่รัฐบาลของแต่ละรัฐ และส่งเสริมการเกษตรหลีกเลี่ยงลัทธิพาณิชยนิยม (Mercantilism) และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ในปีเดียวกันประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันส่งนักการทูตเจมส์ มอนโร (James Monroe) ไปยังกรุงปารีสเพื่อเจรจาของซื้อนครนิวออร์ลีนส์จากฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับสมัยของพระจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพรรดินโปเลียนได้เสนอที่จะขายอาณานิคมลุยเซียนา (Louisiana) ทั้งหมด อันเป็นผืนแผ่นดินรกร้างกว้างใหญ่ประกอบด้วยชาวฝรั่งเศส ชาวสเปน และชาวอเมริกันพื้นเมือง เจฟเฟอร์สันเห็นว่าชาวอเมริกันควรจะมีที่ดินอย่างเพียงพอในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงตัดสินใจที่จะซื้ออาณานิคมลุยเซียนาจากฝรั่งเศสในค.ศ. 1803 ราคาสิบห้าล้านดอลลาร์ (เทียบเท่าจำนวนเงิน 230 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) เรียกว่า การซื้อลุยเซียนา (Louisiana Purchase) ทำให้อาณาเขตของประเทศสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายเฟอเดอรัลลิสต์อย่างมาก ว่าเป็นการผลาญเงินโดยไม่จำเป็น เจฟเฟอร์สันส่งนายเมอรีเวเทอร์ ลูอิส (Meriwether Lewis) และวิลเลียม คลาร์ก (William Clark) ไปทำการสำรวจดินแดนลุยเซียนาอันกว้างใหญ่ไพศาล ในการสำรวจของลูอิสและคลาร์ก (Lewis and Clark Expedition)

แต่เกษตรกรรมในความหมายนี้ คนผิวขาวมิได้ลงแรงในการประกอบเกษตรกรรมเองแต่อย่างใด แต่ใช้ทาสชาวแอฟริกันให้เป็นผู้ำทำการเพาะปลูก ภายใต้การกำกับของชาวอเมริกันผิวขาวในฐานะเจ้าของที่ดิน รัฐบาลสมัยประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันแม้จะให้ความสำคัญแก่สิทธิเสรีภาพ แต่ก็จำต้องปล่อยให้ระบอบทาสคงอยู่เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเกษตรกรรมสามารถดำรงอยู่ได้

ในยุโรปกำลังเกิดสงครามนโปเลียน ประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันพยายามที่จะธำรงความเป็นกลางของสหรัฐเอาไว้ แม้กระนั้นเรือสินค้าของสหรัฐก็ยังคงถูกตรวจค้นและปล้มสะดมโดยทางการบริเทน และกองทัพเรือบริเทนยังลักพาตัวชายชาวอเมริกาจำนวนมากเพื่อนำไปเข้าร่วมกองทัพเรือในการสู้รบกับฝรั่งเศส เรียกว่า Impressment ในปี ค.ศ. 1807 สภาองคมนตรีของบริเทนออกคำสั่งให้ทัพเรือบริเทนนำกำลังเข้าปิดล้อมมิให้สหรัฐสามารถทำการค้าขายกับฝรั่งเศสได้ เจฟเฟอร์สันจึงตอบโต้ออกกฎหมายคว่ำบาตรทางการค้า (Embargo Act) ในปีเดียวกัน ห้ามมิให้ชาวอเมริกาทำการค้าขายกับประเทศใดๆในยุโรปและอาณานิคมของประเทศเหล่านั้น นโยบายนี้ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐตกต่ำลงในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้รับผลเสียใดๆจากนโยบายนี้ และกฎหมายคว่ำบาตรยังทำให้ประชาชนเสื่อมความนิยมในตัวประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันและพรรครีพับบลีกันอีกด้วย จนกระทั่งกฎหมายนี้ถูกยกเลิกไปในค.ศ. 1810

ในค.ศ. 1803 รัฐบาลสหรัฐได้ผนวกเอาดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Territory) บริเวณลุ่มแม่น้ำโอไฮโอ (Ohio River) อันเป็นดินแดนอิสระของชาวอเมริกันพื้นเมือง เข้ามาเป็นดินแดนอินเดียนา (Indiana Territory) และรัฐโอไฮโอ (Ohio) ปกครองโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ผู้นำเผ่าอเมริกันพื้นเมืองชื่อว่า เทคัมเซ (Tecumseh) และ เทนสกวาตาวา (Tenskwatawa) นำกำลังเข้าโจมตีเมืองของสหรัฐต่างๆในบริเวณตะวันตกเฉียงเหนืออย่างหนักหน่วง เพื่อต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของคนผิวขาว โดยที่การกบฏของชาวพื้นเมืองในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากบริเทน

สงครามปีค.ศ. 1812

ดูบทความหลักที่: สงครามปีค.ศ. 1812

รัฐมนตรีต่างประเทศเจมส์ แมดิสัน แห่งพรรครีพับบลีกัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีต่อจากเจฟเฟอร์สันในค.ศ. 1810 รัฐบาลสหรัฐเริ่มที่จะทนไม่ได้กับการกระทำของกองทัพเรืองบริเทนต่อเรือของสหรัฐฯ การขัดขวางการค้าของสหรัฐฯ และการที่บริเทนให้การสนับสนุนกบฏของอเมริกันพื้นเมือง นักการเมืองฝ่ายรีพับบลีกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้แทนจากรัฐทางตอนใต้และจากลุยเซียนา สนับสนุนให้ประกาศสงครามกับบริเทน ในขณะที่นักการเมืองฝ่ายเฟเดอรัลลิสต์จากเขตนิวอิงแลนด์ทางเหนือ ซึ่งได้รับผลประโยชน์จากการค้ากับยุโรปเป็นสำคัญ คัดค้านการทำสงคราม ในที่สุดสภาคองเกรสก็ได้ประกาศสงครามกับบริเทนด้วยเสียงข้างมากในค.ศ 1812 ฝ่ายบริเทนในขณะนั้นมีทัพเรือที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจากการเอาชนะทัพเรือของนโปเลียนในยุทธการทราฟัลการ์ ฝ่ายอเมริกาและบริเทนปะทะกันในสองช่องทางได้แก่ ทางทะเลโดยที่ทัพเรือบริเทนเข้าโจมตีเมื่องชายฝั่งทะเลต่างๆของอเมริกา และทางบกทัพอเมริกายกเข้าบุกแคนาดาซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของบริเทน

การเผานครวอชิงตัน ดี.ซี. และทำเนียบขาว โดยทัพบริเทน ค.ศ. 1814

ในค.ศ. 1811 นายพลวิลเลียม เฮนรี แฮร์ริสัน (William Henry Harrison) บุกเข้าทำลายฐานที่มั่นของอินเดียนแดงได้ในยุทธการทิปเปอแคนู (Battle of Tippecanoe) ทัพอเมริกามีความพยายามในการรุกรานแคนาดาแต่ถูกขัดขวางจากการที่มลรัฐทางตอนเหนือไม่ให้ความร่วมมือ และในปีค.ศ. 1812 เสียเมืองดีทรอยต์ให้แก่บริเทน และทัพอเมริกาพ่ายแพ้แก่ทัพบริเทนในยุทธการควีนสตันไฮทส์ (Battle of Queenston Heights) ในปีเดียวกัน ทางทะเลบริเทนนำทัพเข้ามาปิดล้อมชายฝั่งทั้งหมดของสหรัฐ ทั้งทางฝั่งมหาสุทรแอตแลนติกและฝั่งอ่าวเม็กซิโก ปีต่อมาค.ศ. 1813 ทัพอเมริกาสามารถบุกเข้ายึดและเผาเมืองโตรอนโตของแคนาดาได้ และพลจัตวาโอลิเวอร์ ฮาซาร์ด เพอร์รี่ (Oliver Hazard Perry) นำทัพเรือเมริกาเอาชนะทัพเรือบริเทนในยุทธการทะเลสาบอีรี (Battle of Lake Erie) สามารถขับบริเทนออกจากบริเวณดีทรอยต์ได้ นายพลแฮร์ริสันนำทัพเข้าปราบชาวอินเดียนแดงในยุทธการเธมส์ (Battle of the Thames) สังหารเทคัมเซผู้นำอินเดียนแดงเสียชีวิตในสนามรบ

ในปี 1814 บริเทนสามารถโค่นอำนาจของนโปเลียนได้ในยุโรป จึงหันความสนใจมายังสหรัฐ ทัพเรือบริเทนเข้ายึดเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. และเผาทำลายทำเนียบขาว ทางตอนเหนือทัพเรืออเมริกาต้านทานการรุกรานของทัพบริเทนจากมอนทรีออลได้ในยุทธการทะเลสาบชองแปลง (Battle of Lake Champlain) ทั้งฝ่ายเริ่มการเจรจายุติสงครามที่เมืองเกนต์ ประเทศเบลเยี่ยม นำไปสู่สนธิสัญญาเกนต์ (Treaty of Ghent) ในค.ศ. 1814 สิ้นสุดสงครามโดยที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงของดินแดนในครอบครองทั้งสองฝ่าย กลับไปสู่สภาวะเดิมก่อนเกิดสงคราม

แม้ว่าจะเจรจายุติสงครามแล้ว แต่ข่าวการยุติสงครามยังมาไม่ถึงยังสหรัฐ ในค.ศ. 1815 ทัพเรือบริเทนเข้าโจมตีเมืองท่านิวออร์ลีนส์ ทัพอเมริกานำโดยแอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson) สามารถต้านทานการรุกรานของบริเทนได้ ในยุทธการนิวออร์ลีนส์ (Battle of New Orleans)

วาทะมอนโรและสมัยแห่งความรู้สึกดี

แผนที่เส้นแบ่งเขตแดน ระหว่างสหรัฐและสเปน ตามสนธิสัญญาแอดัมส์-โอนิส (Adams-Onis Treaty)

ค.ศ. 1819 รัฐบาลสหรัฐและราชอาณาจักรสเปนทำสนธิสัญญาแอดัมส์-โอนิส (Adams-Onis Treaty) โดยสหรัฐทำการซื้อฟลอริดามาจากสเปน และกำหนดเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างสองประเทศทางตะวันตก โดยสเปนถือครองดินแดนตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐในปัจจุบัน

ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร (James Monroe) เจ้าของวาทะมอนโร (Monroe Doctrine)

การที่สหรัฐสามารถรับมือกับการรุกรานของมหาอำนาจอย่างเช่นสหราชอาณาจักรได้ ทำให้ชาวอเมริกันเกิดความภาคภูมิใจและเกิดเป็นกระแสชาตินิยมขึ้นในที่สุด ผลทางการเมืองของสงครามปีค.ศ. 1812 คือทำให้อำนาจและความนิยมของพรรคเฟเดอรัลลิสต์ อันมีฐานอำนาจอยู่ในเขตนิวอิงแลนด์ทางเหนือนั้น ล่มสลายไปในที่สุดในฐานะเป็นฝ่ายที่คัดค้านสงคราม ทำให้พรรครีพับบลีกันซึ่งมีฐานเสียงอยู่มลรัฐทางใต้เป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่คงอำนาจ ความภาคภูมิใจในชาติ และเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้เกิดสมัยแห่งความรู้สึกดี (Era of Good Feelings)

ในขณะเดียวกันนั้นอาณานิคมต่างๆของยุโรปในทวีปอเมริกา โดยเฉพาะในอเมริกาใต้กำลังทำสงครามเรียกร้องเอกราชจากประเทศแม่ในยุโรป ปีค.ศ. 1823 ประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร และรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น ควินซี แอดัมส์ (John Quincy Adams) ประกาศวาทะมอนโร (Monroe Doctrine) ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่ข้องแวะกับกิจการใดๆของชาติยุโรป และชาติต่างๆในยุโรปจะต้องไม่แทรกแซงกิจการใดๆของรัฐเอกราชในทวีปอเมริกา

แผนที่แสดงเส้นข้อตกลง (Compromise Line) ตามข้อตกลงมิสซูรี (Missouri Compromise)

ระบบทาส

ความขัดแย้งในเรื่องระบอบทาส เกิดขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 1819 เมื่อมีการก่อตั้งมลรัฐมิสซูรี (Missouri) ขึ้นมาเป็นมลรัฐใหม่ โดยที่พลเมืองคนขาวในรัฐมิสซูรีส่วนใหญ่มีทาสชาวแอฟริกันไว้ในครอบครอง และประชาชนได้ร่างกฎหมายประจำมลรัฐและยื่นเรื่องขออนุมัติจัดตั้งรัฐใหม่ไปยังสภาคองเกรส แต่ทว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งชื่อว่า จอห์น ทัลมาดจ์ (John Tallmadge) จากมลรัฐนิวยอร์ก เสนอให้มีการแก้กฎหมายให้มลรัฐมิสซูรีห้ามการนำทาสเข้ามาในมลรัฐเพิ่มเติม ซึ่งวุฒิสภาสหรัฐฯคัดค้านการแก้ไขนี้ จนในที่สุดรัฐบาลกลางก็อนุญาตให้รัฐมิสซูรีมีทาสได้ในปีค.ศ. 1820 และในปีเดียวกันมีการจัดตั้งมลรัฐแอละแบมาเป็นรัฐมีทาส ทำให้จำนวนรัฐมีทาสและรัฐปลอดทาสเท่ากัน จึงมีการจัดตั้งรัฐเมนขึ้นเป็นรัฐปลอดทาส เพื่อถ่วงเสียงกับฝ่ายรัฐมีทาส และกำหนดว่าห้ามมีระบอบทาสเหนือเส้นขนานที่ 36 องศา 30 ลิปดาเหนือ เรียกว่า เส้นขนานข้อตกลง (Compromise Line) ยกเว้นมลรัฐมิสซูรีซึ่งอยู่เหนือต่อเส้นข้อตกลง เรียกว่า ข้อตกลงมิสซูรี (Missouri Compromise) ปีค.ศ. 1820 ซึ่งเป็นบรรทัดฐานในการจัดตั้งระบอบทาสและเขตปลอดทาสในสหรัฐต่อมาเป็นเวลาสามสิบปี

การเคลื่อนย้ายชาวอเมริกันอินเดียน

ผู้ตั้งถิ่นฐานกำลังข้ามที่ราบเนบราสก้า

ในปี 1830 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายการเคลื่อนย้ายชาวอินเดียน (อังกฤษ: Indian Removal Act) ซึ่งให้มีอำนาจประธานาธิบดีในการเจรจาสนธิสัญญาที่จะแลกเปลี่ยนดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันในรัฐทางตะวันออกกับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้.[4] เป้าหมายหลักคือเพื่อเคลื่อนย้ายชนพื้นเมืองอเมริกัน, รวมทั้ง ห้าอารยะชนเผ่า, จากตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกาซึ่งพวกเขาครอบครองที่ดินที่ผู้ตั้งถิ่นฐานต้องการ. ประธานาธิบดีแจ็คสันแห่งพรรคเดโมแครต (อังกฤษ: Jacksonian Democrats) เรียกร้องให้ใช้กำลังในการเคลื่อนย้ายประชากรพื้นเมืองที่ปฏิเสธที่จะยอมรับ กฎหมายของรัฐไปยังเขตสงวนทางตะวันตก; สมาชิกพรรคการเมือง (อังกฤษ: Whigs) และผู้นำศาสนาต่อต้านการย้ายที่ไร้มนุษยธรรม. มีการเสียชีวิตหลายพันคนที่มีผลมาจากการโยกย้าย, เท่าที่เห็นใน รอยน้ำตาของเชอโรกี (อังกฤษ: Cherokee Trail of Tears)[5] อินเดียนแดงเผ่า Seminole หลายคนในฟลอริดาปฏิเสธที่จะย้ายไปทิศตะวันตก; พวกเขาต่อสู้กับกองทัพมานานหลายปีในสงคราม Seminole

การฟื้นคืนชีพที่ยิ่งใหญ่ครั้งที่สอง

บทความหลัก : Second Great Awakeningการฟื้นคืนชีพที่ยิ่งใหญ่ครั้งที่สองเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูนิกายโปรเตสแตนต์ที่สร้างผลกระทบทั้งประเทศในช่วงศตวรรษที่ 19 และนำไปสู่​​การเจริญเติบโตของคริสตจักรอย่างรวดเร็ว. การเคลื่อนไหวเริ่มราวปี ค.ศ. 1790 ได้รับแรงโมเมนตั้มในปี 1800, และ, หลังปี 1820 สมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหมู่การชุมนุมของกลุ่มแบบติสท์และเมทอดิสท์, ซึ่งนักเทศน์ของพวกเขาได้นำการเคลื่อนไหว. มันผ่านจุดสูงสุดในยุค 1840s.[6]

มีคนลงทะเบียนเป็นสมาชิกใหม่นับล้านคนในนิกาย evangelic ที่มีอยู่เดิมและนำไปสู่​​การก่อตัวของนิกายใหม่ ผู้นับถือหลายคนเชื่อว่าการฟื้นคืนชีพจะเป็นการป่าวประกาศถึงยุคพันปีใหม่. การฟื้นคืนชีพที่ยิ่งใหญ่ครั้งที่สองได้กระตุ้นการเคลื่อนไหวเพือการการปฏิรูปหลายอย่าง-รวมทั้งการเลิกทาสและยับยั้งชั่งใจที่ออกแบบมาเพื่อลบความชั่วร้ายของสังคมก่อนการคาดว่าจะเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสต์.[7]

การเลิกทาส

หลังปี 1840 การเจริญเติบโตของการเคลื่อนไหวเพื่อเลิกทาสให้นิยามใหม่ของตัวมันเองว่าเป็น สงครามต่อสู้กับความบาปของเจ้าของทาส. มันทำการรวบรวมฝ่ายสนับสนุน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ผู้หญิงเคร่งศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากการการฟื้นคืนชีพที่ยิ่งใหญ่ครั้งที่สอง) วิลเลียม ลอยด์ แกร์ริสัน ได้เผยแพร่หนังสือพิมพ์ต่อต้านทาสหลายเล่มที่มีอิทธิพลมากที่สุด, The Liberator, ในขณะที่ เฟรเดอริค ดักลาส, อดีตทาส, เริ่มเขียนให้กับหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นในราวปี 1840 และเริ่มหนังสือพิมพ์นักปลดปล่อยทาสของเขาเอง, North Star ในปี ค.ศ. 1847[8] นักเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด, เช่น อับราฮัม ลิงคอล์น, ปฏิเสธศาสนศาสตร์ของแกร์ริสันและถือได้ว่า การเป็นทาสเป็นความชั่วร้ายทางสังคม, ไม่ใช่บาป.[9][10]

แผ่ขยายไปทางตะวันตก (ค.ศ. 1824 ถึง ค.ศ. 1861)

การเลือกตั้งทั่วไปในปีค.ศ. 1824 เสียงของประชาชนชาวอเมริกันแตกออกระหว่างผู้สมัครจากพรรครีพับบลีกันสี่คน ได้แก่ โฆษกรัฐบาลนายเฮนรี เคลย์ (Henry Clay) จากมลรัฐเคนตักกี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น ควินซี แอดัมส์ จากมลรัฐแมสซาชูเซตต์ รัฐมนตรีการคลัง วิลเลียม ครอว์เฟิร์ด (William Crawfurd) และแอนดรูว์ แจ็กสัน นายพลผู้โด่งดังจากการนำทัพเรือสหรัฐฯเอาชนะทัพเรือบริเทนในยุทธการนิวออร์ลีนส์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากชาวมลรัฐเทนเนสซีและเพนซิลวาเนีย ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับเสียงข้างมากในคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ที่เพียงพอที่จะเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ จึงให้สภาผู้แทนราษฏรเป็นผู้ทำการเลือกประธานาธิบดีเป็นขั้นตอนถัดมา โฆษกรัฐบาลเฮนรี เคลย์ ได้ทำการล็อบบี้ให้ผู้สนับสนุนของตนในสภาผู้แทนราษฏรเลือกนายจอห์น ควินซี แอดัมส์ เป็นประธานาธิบดี โดยมีข้อแลกเปลี่ยนคือตัวนายเฮนรี เคลย์ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศ เป็นผลให้นายจอห์น ควินซี แอดัมส์ ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ สร้างความไม่พอใจให้แก่นายแอนดรูว์ แจ็กสันเป็นอย่างมาก ผู้ซึ่งได้ประณามข้อตกลงทางการเมืองนี้ว่าเป็น "ข้อแลกเปลี่ยนอันฉ้อฉล" (The Corrupt Bargain)

เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เกิดความแตกแยกในพรรครีพับบลีกัน คือนายแอนดรูว์ แจ็กสัน ร่วมกับนายมาร์ติน แวน บิวเรน (Martin van Buren) ได้นำผู้สนับสนุนของตนแยกตัวออกมาจากพรรครีพับบลีกันออกมาตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรคเดโมแครต (Democratic Party) ในขณะที่สมาชิกที่ยังคงอยู่ในพรรคเดิมนั้นเรียกว่า พรรครีพับบลีกัน (Republican Party) หรือต่อมาเรียกว่าพรรควิก (Whig Party) นำโดยเฮนรี เคลย์ เป็นจุดเริ่มต้นของระบบพรรคการเมืองที่สอง (Second Party System) รัฐบาลของนายแอดัมส์บริหารงานไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชนมากนัก ส่งผลให้แอนดรูว์ แจ็กสัน สามารถชนะการเลือกตั้งในค.ศ. 1828 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯได้ในที่สุด

สมัยของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน (ค.ศ. 1828 - 1837)

ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน

ประธานาธิบดีแจ็กสันและพรรคเดโมแครตมีแนวความคิดที่แตกต่างจากพรรครีพับบลีกัน เรียกว่า ประชาธิปไตยแบบแจ็กสัน (Jacksonian democracy) คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนคนชั้นล่างคนยากคนจนเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้ชายผิวขาวชาวอเมริกันทุกคนมีสิทธิ์เลือกตั้ง (Universal suffrage of all white men) ซึ่งในสมัยก่อนหน้านั้นชายอเมริกันจะต้องมีที่ดินไว้ในครอบครองจำหนวนหนึ่งจึงจะมีสิทธิ์เลือกตั้งได้ (ตามแนวความคิดประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สันที่ว่า มนุษย์จะต้องมีที่ดินไว้ทำกินพึ่งพาตนเองได้ จึงจะถือว่ามีอิสรภาพจากตลาดและอุตสาหกรรม) อย่างไรก็ตามสตรีและทาสผิวดำชาวแอฟริกันยังคงไม่ได้รับสิทธิเลือกตั้ง ประธานาธิบดีแจ็กสันพยายามที่จะสร้างฐานความนิยมในชนชั้นล่างและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลรัฐทางใต้ และต่อต้านอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางผู้มีฐานะจากการประกอบอุตสาหกรรมและธุรกิจการเงิน ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในมลรัฐทางตอนเหนือ

ประธานาธิบดีแจ็กสันเชื่อในอำนาจของฝ่าบบริหาร ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติอันประกอบด้วยสภาคองเกรสนั้นเป็นเพียงตัวแทนของแต่ละเขต ในคณะที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวหาแจ็กสันว่าใช้อำนาจบาตรใหญ่จนถึงขั้นจะตั้งตนเป็นกษัตริย์อย่างในยุโรป แจ็กสันพยายามลดทอนอำนาจของรัฐบาลกลางลง แต่ทว่าประธานาธิบดีแจ็กสันได้กระทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับแนวความคิดของตนที่ได้ประกาศไป ปีค.ศ. 1828 รัฐบาลกลางได้ออกรัฐบัญญัติภาษีศุลกากร (Tariff Act of 1828) หรือศุลกากรแห่งความเกลียดชัง (Tariff of Abominations) เป็นการเก็บภาษีศุลกากรจากการค้าขายระหว่างมลรัฐ ซึ่งทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์จากขนสัตว์เช่นเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กมีราคาสูงขึ้น ซึ่งประชาชนชาวมลรัฐทางใต้ได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากจะต้องซื้อสินค้าเหล่านี้จากอุตสาหกรรมในมลรัฐทางเหนือ รัฐบาลรัฐเซาท์แคโรไลนาข่มขู่ว่าจะประกาศยกเลิกและไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้ ต่อมาในปีค.ศ. 1832 รัฐบาลกลางได้ออกรัฐบัญญัติศุลกากรออกมาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลรัฐเซาท์แคโรไลนาได้ประกาศไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า วิกฤติการการยกเลิกกฎหมาย (Nullification Crisis) เป็นการที่รัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอมรับกฎหมายที่มาจากรัฐบาลกลาง ประธานาธิบดีแจ็กสันจึงตอบโต้โดยการออกรัฐบัญญัติว่าจะใช้กำลังทหารเข้าเก็บภาษี

เผ่าอินเดียนแดงผู้เจริญทั้งห้า (Five Civilized Tribes) ซึ่งถูกขับไล่ออกจากดินแดนของตนในสมัยรัฐบาลแจ็กสัน ประกอบด้วย 1)เชอโรกี (Cherokees) 2)ชกทอว์ (Choctaws) 3)มัสโคกี (Muscogees) 4)ชิกกาซอว์ (Chickasaw) 5)เซมิโนล (Seminole)

ประธานาธิบดีแจ็กสันมีนโยบายขยายอาณาเขตเพื่อให้ประชาชนมีที่ดินในการประกอบเกษตรกรรมมากขึ้น ประกอบกับความเกลียดชังส่วนตัวของแจ็กสันที่มีต่อชาวอินเดียนแดงพื้นเมือง นำไปสู่นโยบายการขับชาวพื้นเมืองออกจากดินแดนดั้งเดิมของตนเพื่อให้คนขาวนำมาทำการเกษตร ในค.ศ. 1830 รัฐบาลแจ็กสันออกรัฐบัญญัติขับไล่อินเดียนแดง (Indian Removal Act) ให้ชาวอินเดียนแดงทั้งหมดห้าเผ่าในมลรัฐทางตอนใต้ออกจากถิ่นเดิมของตนแล้วไปตั้งรกรากใหม่ที่มลรัฐโอคลาโฮมา ชาวอินเดียนแดงได้ร้องเรียนต่อศาลฎีกาสูงสุดแห่งสหรัฐ ซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่ารัฐบาลกลางไม่มีสิทธิอันชอบธรรมในการขับไล่ชาวอินเดียนแดง แม้กระนั้นประธานาธิบดีแจ็กสันก็ไม่สนใจคำตัดสินของศาลฎีกา ยังคงให้มีการขับชาวอินเดียนแดงออกจากพื้นที่ต่อไป จากความกดดันของรัฐบาลกลางและคนขาวชาวอินเดียนแดงทั้งห้าเผ่าออกเดินทางสู่โอกลาโฮมาในช่วงฤดูหนาวปีค.ศ. 1830-1835 ซึ่งชาวอินเดียนแดงส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางเนื่องด้วยสภาพอากาศอันเลวร้าย เรียกการอพยพของอินเดียนแดงในครั้งนี้ว่า "เส้นทางแห่งน้ำตา" (Trail of Tears)

นโยบายที่สำคัญอีกประการของประธานาธิบดีแจ็กสันคือ การไม่ต่ออายุธนาคารแห่งชาติสหรัฐที่สอง (Second Bank of the United States) ซึ่งจะหมดอายุในค.ศ. 1836 แจ็กสันมองว่าธนาคารกลางมีอำนาจความคุมการเงินของประเทศเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางเศรษฐกิจของประชาชน และเป็นสถาบันที่เอื้อประโยชน์แก่นายทุนชนชั้นกลางจำนวนเพียงหยิบมือ ซึ่งเมื่อไม่มีธนาคารกลางเศรษฐกิจของสหรัฐจึงปราศจากสถาบันควบคุมนำไปสู่ความตื่นตระหนกปีค.ศ. 1837 (Panic of 1837) ในสมัยของประธานาธิบดีคนต่อมาคือนายมาร์ติน แวน บิวเรน เศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้พรรคเดโมแครตมีความนิยมที่เสื่อมลงและเปิดโอกาสให้พรรควิกหาเสียงไปในทางที่ว่าประธานาธิบดีแจ็กสันเป็นเหตุของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้พรรควิกชนะการเลือกตั้งและได้ขึ้นครองประเทศในที่สุด

การปฏิวัติเท็กซัสและสงครามกับเม็กซิโก

เศษซากปรักหักพังของป้อมอะละโม สถานที่ซึ่งชาวอเมริกันเท็กซัสได้ต่อสู้ต้านทานการปิดล้อมของทัพเม็กซิกันอย่างกล้าหาญ

กล่าวถึงประเทศเม็กซิโกซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของสเปน ได้ทำสงครามประกาศเอกราชจากสเปนและจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐเม็กซิโก (Republic of Mexico) ในปีค.ศ. 1824 โดยมีลักษณะเป็นสมาพันธรัฐ (Federation) โดยแต่ละรัฐมีรัฐบาลเป็นของตนเองขึ้นแก่รัฐบาลกลาง รัฐเท็กซัสเป็นหนึ่งในนั้น โดยทางรัฐบาลรัฐเท็กซัสซึ่งขึ้นแก่เม็กซิโกได้ส่งเสริมเชื้อเชิญให้ชาวแองโกล-อเมริกัน (Anglo-American) หรือชาวอเมริกันทั่วไปจากมลรัฐทางใต้ของสหรัฐเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเท็กซัสเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจภายในรัฐ โดยที่ชาวอเมริกันได้นำทาสผิวดำชาวแอฟริกันมาด้วย แต่ทว่าในปีต่อมาค.ศ. 1825 ประธานาธิบดีอันโตนิโอ โลเปซ เดอ ซันตา อันนา (Antonio Lopez de Santa Anna) แห่งเม็กซิโกเปลี่ยนนโยบายให้เม็กซิโกเป็นรัฐเดี่ยวรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางยกเลิกรัฐบาลของแต่ละรัฐ สร้างความไม่พอใจแก่ชาวอเมริกันในเท็กซิสที่คุ้นชินกับการปกครองรัฐบาลท้องถิ่นมาแต่เดิม ที่สำคัญเม็กซิโกมีนโยบายเลิกทาส ชาวอเมริกันจึงก่อการกบฏเพื่อแยกตนเองเป็นเอกราชจากเม็กซิโกเรียกว่า การปฏิวัติเท็กซัส (Texas Revolution) ในค.ศ. 1835 มีผู้นำคือนายพลแซม ฮิวสตัน (Sam Houston) ทัพฝ่ายเม็กซิโกเข้าทำลายล้างสังหารฝ่ายเท็กซัสในยุทธการอลาโม (Battle of the Alamo) แต่ฝ่ายเท็กซัสสามารถเอาชนะฝ่ายเม็กซิกันได้ในยุทธการซานฮาซินโต (Battle of San Jacinto) จนนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐเท็กซัส (Republic of Texas) ขึ้นในค.ศ. 1836

ธงชาติของสาธารณรัฐเท็กซัส ตั้งอยู่ระหว่างค.ศ. 1835 - 1846 ก่อนที่จะเข้ารวมกับสหรัฐ

แซม ฮิวสตัน เห็นว่าสาธารณรัฐเท็กซัสควรที่จะเข้ารวมกับสหรัฐแต่ทว่าถูกคัดค้านโดยรัฐบาลของประธานาธิบดีแวนบิวเรนด้วยเหตุผลที่ว่าการรับเท็กซัสเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะเข้ามาในฐานะรัฐมีทาส จะทำให้สมดุลของจำนวนระหว่างรัฐมีทาสและรัฐปลอดทาสเสียไป และอาจนำสหรัฐเข้าสู่สงครามกับเม็กซิโกได้ ฝ่ายเท็กซัสพยายามที่จะยื่นข้อเสนอที่จะเข้ารวมกับสหรัฐต่อมาอีกหลายครั้ง แต่ถูกละเลยโดยรัฐบาลพรรควิกในสมัยต่อมาเช่นเดิม ประชาชนชาวอเมริกันทางใต้นั้นต้องการที่จะให้เท็กซัสเข้ามาเป็นสมาชิกเพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันเข้าไปแสวงหาที่ดินทำกินเพิ่มเติม นายเจมส์ เค. โพล์ก (James K. Polk) แห่งพรรคเดโมแครตได้ใช้จุดนี้ในการหาเสียงโดยประกาศสนับสนุนการรวมเท็กซัสเข้ากับอเมริกา จนกระทั่งนายโพล์กสามารถชนะนายเฮนรีเคลย์แห่งพรรควิกในการเลือกตั้งค.ศ. 1845 ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อมา สภาคองเกรสภายใต้ประธานาธิบดีโพล์กผ่านร่างเห็นชอบให้เท็กซัสเข้ามาเป็นมลรัฐใหม่ของสหรัฐในค.ศ. 1846 โดยเป็นมลรัฐที่มีทาส และให้ดินแดนโอเรกอน (Oregon Territory) อันเป็นดินแดนร่วมระหว่างสหรัฐกับบริเทน เข้ามาเป็นมลรัฐโอเรกอนเป็นรัฐปลอดทาสเพื่อความสมดุล โดยทำสนธิสัญญาโอเรกอน (Oregon Treaty) แบ่งเขตแดนระหว่างสหรัฐกับแคนาดาของบริเทนที่เส้นขนาน 49 องศาเหนือ

สนธิสัญญากวาเดอลูป-ฮิดัลโก (Treaty of Guadelupe-Hidalgo) ค.ศ. 1848 ยกดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลให้แก่สหรัฐ ปัจจุบันคือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐ

แต่ทว่ามลรัฐเท็กซัสนั้นมีเขตแดนทับซ่อนกันกับสาธารณรัฐเม็กซิโก โดยที่ฝ่ายอเมริกานั้นอ้างดินแดนจนถึงแม่น้ำริโอแกรนด์ (Rio Grande) ในขณะที่ฝ่ายเม็กซิโกอ้างดินแดนเข้ามาจนถึงแม่น้ำนิวซ์ (Neuces River) ประธานาธิบดีโพล์กได้ส่งนายพลแซคารี เทย์เลอร์ (Zachary Taylor) เป็นผู้นำทัพอเมริกันเข้าไปในดินแดนพิพาท และส่งนายจอห์น ซี. เฟรมองต์ (John C. Frémont) ไปยังแคลิฟอร์เนียเพื่อปลุกปั่นให้ชาวแคลิฟอร์เนียก่อกบฏต่อต้านรัฐบาลเม็กซิโก ในค.ศ. 1846 ทัพเม็กซิโกได้เข้าโจมตีทัพของอเมริกาในดินแดนข้อพิพาท ทางฝ่ายสภาคองเกรสจึงประกาศสงครามกับเม็กซิโก โดยทัพอเมริกาเข้าบุกยึดดินแดนที่ปัจจุบันคือภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐซึ่งในขณะนั้นเป็นของเม็กซิโกอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันทัพเรือแปซิฟิก (Pacific Squadron) ได้เข้าปิดล้อมเมืองท่าต่างๆของเม็กซิโกในแคลิฟอร์เนีย และนายพลวินฟีลด์ สก็อต (Winfield Scott) ได้ยกทัพลงใต้เข้าบุกยึดเมืองเม็กซิโกซิตี้ อัรเป็นเมืองหลวงของเม็กซิโกได้สำเร็จในค.ศ. 1847 เป็นเหตุให้เม็กซิโกยอมจำนนและทำสนธิสัญญากวาเดอลูป-ฮิดัลโก (Treaty of Guadelupe-Hidalgo) ในค.ศ. 1848 ยอมรับสถานะของมลรัฐเท็กซัส และยอมยกแคลิฟอร์เนียรวมทั้งดินแดนที่เป็นภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐในปัจจุบันให้แก่สหรัฐ

การตื่นทองแคลิฟอร์เนียและข้อตกลงค.ศ. 1850

ภาพสัญลักษณ์ของ"โชคชะตาเด่นชัด" (Manifest Destiny) แสดงเทพธิดาโคลัมเบีย (Columbia) อันเป็นตัวแทนของสหรัฐ นำความเจริญสู่ภาคตะวันตก โดยมีสายโทรเลขและหนังสือเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ

ชัยชนะในสงครามกับเม็กซิโกและสนธิสัญญากวาเดอลูป-ฮิดัลโก ทำให้ความใฝ่ฝันของสหรัฐที่จะแผ่ขยายดินแดนจากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกจรดมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นความจริงขึ้นมา ชาวอเมริกันมีความเชื่อในเรื่อง "โชคชะตาเด่นชัด" (Manifest Destiny) ว่าคนผิวขาวมีหน้าที่ภารกิจในการนำความเจริญจากฝั่งตะวันออกไปสู่ฝั่งตะวันตกซึ่งก็คือฝั่งแปซิฟิกนั่นเอง โดยที่ความด้อยอารยธรรมของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงจะต้องล่าถอยไป ซึ่งแนวความคิดนี้เป็นแรงผลักดันสำคัญในการแผ่ขยายดินแดนของสหรัฐในสมัยของรัฐบาลพรรคเดโมแครต ประกอบกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจซึ่งชาวอเมริกันฝ่ายใต้มีโอกาสที่จะเข้าไปทำกินที่ดินใหม่ๆที่มีมากขึ้นไม่สิ้นสุด ในขณะที่ชาวอเมริกันฝ่ายเหนือและนักการเมืองจากพรรควิกต่างคัดค้านนโยบายนี้เนื่องจากการแผ่ขยายดินแดนหมายถึงการแผ่ขยายของระบอบทาสในการเกษตรกรรม รวมทั้งคัดค้านการทำสงครามใดๆที่นำไปสู่การขยายดินแดน

ปีค.ศ. 1848 มีการค้นพบเหมืองทองบริเวณแคลิฟอร์เนียและเทือกเขาเซียร์ราเนวาดา โดยที่ประธานาธิบดีโพล์กได้ยืนยันการค้นพบทองนี้ต่อสภาคองเกรส ส่งผลให้ในปีต่อมาค.ศ. 1849 ชาวอเมริกันจำนวนมากจากฝั่งตะวันออกต่างพากันหลั่งไหลไปสู่ฝั่งตะวันตกด้วยความหวังว่าจะได้ทองมาไว้ในครอบครอง เรียกว่า การตื่นทองแคลิฟอร์เนีย (California Gold Rush) และเรียกชาวอเมริกันที่อพยพมาในปีนั้นว่า "ชาวสี่สิบเก้า" (Forty-Niners) นอกจากชาวอเมริกันแล้ว ชาวฮิสแปนิก ชาวอินเดียนพื้นเมือง หรือแม้แต่ผู้อพยพจากเอเชียแปซิฟิกได้แก่ชาวจีน ชาวญี่ปุ่น และชาวออสเตรเลีย ต่างเข้ามาแข่งขันในการทำเหมืองแร่ทอง ประชากรในแคลิฟอร์เนียเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมืองต่างๆได้แก่ ซานฟรานซิสโก ลอสแอนเจลิส ซานดิเอโก กลายเป็นเมืองใหญ่

วิวัฒนาการของรัฐมีทาสและรัฐปลอดทาส

เมื่อประชาชนชาวแคลิฟอร์เนียยื่นร่างเสนอให้จัดตั้งแคลิฟอร์เนียเป็นมลรัฐ ปัญหาจึงเกิดขึ้น เมื่อชาวแคลิฟอร์เนียต้องการให้รัฐของตนเองเป็นรัฐปลอดทาส แต่เป็นเพราะแคลิฟอร์เนียมีอาณาเขตคาบเกี่ยวเส้นขนานข้อตกลง นักการเมืองพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้ต้องการที่จะแบ่งแคลิฟอร์เนียเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ใต้ต่อเส้นขนานนั้นเป็นรัฐมีทาส ในขณะเดียวกันนั้นมลรัฐเท็กซัสซึ่งเป็นรัฐมีทาสได้อ้างเขตแดนถึงแม่น้ำริโอแกรนด์ ซึ่งทับซ้อนกับดินแดนนิวเม็กซิโก (New Mexico Territory) ซึ่งชาวนิวเม็กซิโกปรารถนาจะเป็นเขตปลอดทาส จึงเกิดการประนีประนอมระหว่างฝ่ายนิยมทาสและฝ่ายที่ต่อต้านระบอบทาส โดยวุฒิสมาชิกสตีเฟน ดักลาส (Stephen Douglas) แห่งพรรคเดโมแครต และวุฒิสมาชิกเฮนรี เคลย์ แห่งพรรควิก ได้สร้างข้อตกลงร่วมกัน โดยให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐใหม่ปลอดทาสโดยไม่มีการแบ่งแยก รัฐเท็กซัสสละการอ้างเขตแดน แต่นิวเม็กซิโกจะยังไม่มีสถานะเป็นมลรัฐ และได้ออกรัฐบัญญัติทาสหนี (Fugitive Slave Act) ให้ตำรวจสามารถเข้าจับกุมชาวแอฟริกันอเมริกันผิวดำได้ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นทาสหลบหนี ข้อตกลงทั้งหลายนี้รวมกันเรียกว่า ข้อตกลงปีค.ศ. 1850 (Compromise of 1850) ซึ่งเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างสองฝ่ายและยับยั้งความรุนแรงไปได้อีกสิบปี

=== สงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861 ถึง ค.ศ. 1865) ===อเมริกามันพวกหัวขวด

อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln)

การขยายดินแดนตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าทำให้สหรัฐมีดินแดนเพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งทาสชาวแอฟริกันอเมริกันนั้นมีบทบาทอย่างมากในฐานะเป็นแรงงานหลักในการเกษตรภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้านายผิวขาว นโยบายของรัฐบาลพรรคเดโมเครตซึ่งกุมอำนาจอยู่ในช่วงเวลานั้นสนับสนุนการกสิกรรมและการขยายดินแดน ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนระบอบทาสซึ่งเป็นระบอบสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐอยู่รอด อย่างไรก็๋ตามในขณะที่มลรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐมีเศรษฐกิจหลักเป็นการเกษตรซึ่งต้องใช้แรงงานทาสผิวดำเป็นสำคัญ แต่ในมลรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือนั้นมีเศรษฐกิจหลักเป็นอุตสาหกรรมไม่ต้องพึ่งพิงแรงงานทาส และรัฐเหล่านั้นก็มีนโยบายต่อต้านระบอบทาส จึงการความแตกแยกครั้งใหม่ขึ้นในหมู่คนอเมริกัน นั่นคือการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายเหนือซึ่งคัดค้านระบอบทาส และฝ่ายใต้ซึ่งให้การสนับสนุนระบอบทาส

รัฐบาลกลางและประธานาธิบดีหลายสมัยได้พยายามที่จะประสานรอยร้าวระหว่างสองฝ่ายโดยการประนีประนอม ยกตัวอย่างเช่นข้อยุติ ค.ศ. 1850 ซึ่งให้แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐปลอดทาสแต่บังคับให้มลรัฐฝ่ายเหนือส่งตัวทาสที่หลบหนีกลับไปหาเจ้านายเดิมที่ฝ่ายใต้ตามกฎหมายทาสหนี (Fugitive Slave Act) ซึ่งข้อยุติและการประนีประนอมเหล่านี้ไม่สร้างความพึงพอใจแก่ฝ่ายใด ในค.ศ. 1854 รัฐบัญญัติแคสซัส-เนบรัสกา (Kansas-Nebraska Act) จัดสั้งสองมลรัฐใหม่ โดยให้ประชาชนในรัฐนั้นออกเสียงข้างมากเพื่อเลือกว่ารัฐนั้นจะมีทาสหรือไม่ ผลคือชาวอเมริกันจากทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้พากันแห่แหนเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่รัฐใหม่ เพื่อลงมติให้รัฐทั้งสองนั้นมีหรือไม่มีทาสตามแต่ฝ่ายตน จนกระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างสองฝ่ายที่มลรัฐแคนซัสเรียกว่า การหลั่งเลือดที่แคนซัส (Bleeding Kansas)

ดูบทความหลักที่: สงครามกลางเมืองอเมริกัน
วิวัฒนาการของสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America)

ในขณะเดียวกันทางฝ่ายเหนือ แนวความคิดการเลิกทาส (Abolitionism) ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ มีวรรณกรรมเกี่ยวกับการเลิกทาสที่เป็นที่รูจักคือ กระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom's Cabin) ใน ค.ศ. 1857 คดีความระหว่างเดรดสกอตและแซนด์ฟอร์ด (Dread Scott v. Sandford) ศาลฎีกาสูงสุดได้ตัดสินให้นายเดรตสกอตชาวแอฟริกันอเมริกันคงสภาพความเป็นทาสเนื่องจาก "ชาวแอฟริกันอเมริกันไม่จัดเป็นพลเมืองของสหรัฐ จึงไม่มีสิทธิเสรีภาพตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ" สร้างความไม่พอใจแก่ชาวเหนือเป็นอย่างมาก ใน ค.ศ. 1854 สมาชิกพรรควิกที่มีแนวคิดเลิกทาสได้รวมตัวกันจัดตั้งพรรครีพับบลิกัน (Republican Party) ขึ้น และส่งตัวแทนคือ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) เข้ารับการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1860 ซึ่งลินคอล์นได้รับเสียงท้วมท้นจากรัฐทางเหนือและเนื่องจากรัฐทางเหนือมีประชากรมากกว่าลินคอล์นจึงมีคะแนนเสียงชนะคู่แข่งจากพรรคเดโมเครต แม้ว่าลินคอล์นจะไม่มีเสียงข้างมากในมลรัฐทางใต้เลยก็ตาม สร้างความไม่พอใจแต่มลรัฐทางตอนใต้เป็นอย่างยึ่ง รัฐใต้ทั้งเจ็ดได้แก่ เซาท์แคโรไลนา มิสซิสซิปปี ฟลอริดา แอละแบมา จอร์เจีย ลุยเซียนา และเท็กซัส ประกาศแยกตัวออกมาจากสหรัฐใน ค.ศ. 1861 และจัดตั้งสมาพันธรัฐอเมริกา (Confederate States of America) แม้ว่าประธานาธิบดีลินคอล์นจะประกาศว่าจะไม่ส่งทัพเข้าปราบฝ่ายสมาพันธรัฐฯ แต่ฝ่ายสมาพันธรัฐฯได้รวบรวมกำลังพลและเข้ายึดป้อมปราการต่างๆเพื่อเตรียมตัวรับมือกับทัพฝ่ายเหนือที่อาจรุกรานเข้ามา โดยเข้ายึดป้อมซัมเทอร์ (Fort Sumter) ใน ค.ศ. 1861 เป็นเหตุให้ลินคอล์นตัดสินใจประกาศสงครามกับสมาพันธรัฐฯและมีคำสั่งให้ทุกรัฐส่งทัพเข้าช่วยเหลือรัฐบาลกลางในการต่อสู้กับสมาพันธรัฐฯ ทำให้รัฐใต้อีกสี่รัฐได้แก่ เวอร์จิเนีย อาร์คันซอ เทนเนสซี และนอร์ทแคโรไลนา ประกาศถอนตัวจากรัฐบาลสหรัฐฯและเข้าร่วมกับสมาพันธรัฐอเมริกา จัดตั้งเมืองริชมอนด์ (Richmond) รัฐเวอร์จิเนียขึ้นเป็นนครหลวงของสมาพันธรัฐฯ โดยมีนายเจฟเฟอร์สัน เดวิส (Jefferson Davis) เป็นประธานาธิบดี

ยุทธการเกตตีสเบิร์ก (Battle of Gettysburg) โดย Thure de Thulstrup

ฝ่ายสหรัฐฯทางเหนือใช้ยุทธวิธีต่างๆเพื่อพิชิตสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ได้แก่ นายพลวินฟิลด์ สก็อต ได้นำกองทัพเรือเข้าปิดล้อมเมืองต่างๆทั้งหมดของรัฐทางใต้ เรียกว่า การปิดล้อมของสหรัฐฯ (Union Blockade) ทำให้ฝ่ายใต้ไม่สามารถส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปยังยุโรปอันเป็นรายได้สำคัญของฝ่ายใต้ เศรษฐกิจแบบเกษตรกรรมของฝ่ายใต้จึงถูกทำลายลง ประธานาธิบดีส่งนายพลยูลิสซิส เอส. แกรนท์ (Ulysees S. Grant) และวิลเลียม เทคัมเซ เชอร์แมน (William Tecumseh Sherman) ยกทัพเข้ารุกรานสมาพันธรัฐทางตะวันตกบริเวณลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี เข้ายึดเมืองต่างๆได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตะวันออกนั้นฝ่ายสมาพันธรัฐนำโดยนายพลโรเบิร์ต อี. ลี (Robert E. Lee) สามารถป้องกันเมืองริชมอนด์นครหลวงและเอาชนะทัพฝ่ายเหนือได้ในยุทธการแอนตีแทม (Battle of Antietam) ค.ศ. 1861 ประธานาธิบดีลินคอล์นสรรหาขุนพลจำนวนมากมาเพื่อนำทัพตะวันออกเข้าโจมตียึดเมืองริชมอนด์แต่ล้วนพ่ายแพ้ต่อนายพลลี จนกระทั่ง ค.ศ. 1863 ในยุทธการเกตตีสเบิร์ก (Battle of Gettysburg) ทัพของฝ่ายเหนือสามารถเอาชนะทัพของนายพลลีฝ่ายใต้ได้ ซึ่งประธานาธิบดีลินคอล์นได้กล่าวสุนทรพจน์เกตตีสเบิร์ก (Gettysburg Address) ไว้ว่า "...การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน จะไม่สูญสิ้นไปจากโลกนี้" ("...and that government of the people, by the people, for the people, shall not perish from the earth.") ใน ค.ศ. 1864 เมื่อฝั่งตะวันตกเรียบร้อยดีแล้ว ลินคอล์นจึงย้ายนายพลแกรนท์มาบังคับบัญชาทัพฝั่งตะวันออก นายพลแกรนท์และนายพลลี ขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันในยุทธการโอลด์เชิร์ช (Battle of Old Church) ซึ่งนายพลแกรนท์สามารถเอาชนะนายพลลีและทัพฝ่ายใต้ได้ และในปีเดียวกันนั้นายพลเชอร์แมนยกทัพบุกเข้ายึดเมืองแอตแลนตาได้สำเร็จในยุทธการแอตแลนตา ซึ่งเป็นยุทธการที่ทำให้ลินคอล์นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในปี ค.ศ. 1864

นายพลลีประกาศยอมแพ้สงครามในที่สุดในเดือนเมษายน ค.ศ. 1865 ถัดมาจากนั้นอีกห้าวันประธานาธิบดีลินคอล์นถูกลอบสังหารที่วอชิงตัน ดี.ซี. รองประธานาธิบดีแอนดรูว์ จอห์นสันจากพรรคเดโมเครตจึงขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ขุนพลฝ่ายใต้คนอื่นๆค่อยๆทยอยประกาศยอมจำนน จนกระทั่งประธานาธิบดีจอห์นสันประกาศยุติสงครามอย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1866

สมัยแห่งการฟื้นฟู สมัยแห่งความก้าวหน้า และการแผ่ขยายอาณานิคม (ค.ศ. 1865 ถึง ค.ศ. 1918)

สมัยแห่งการฟื้นฟู (ค.ศ. 1865 - ค.ศ. 1877)

ในสมัยแห่งการฟื้นฟู (Reconstruction) ชาวแอฟริกันอเมริกันผิวดำได้รับสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรกในค.ศ. 1867

หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง รัฐบาลสหรัฐฯมีความพยายามที่จะฟื้นฟูประเทศจากภาวะสงคราม และนำรัฐทางใต้กลับเข้ามารวมกันเป็นสหรัฐสามัคคีกลมเกลียวกันดังเดิม เรียกว่า สมัยแห่งการฟื้นฟู (Reconstruction Era) นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในสมัยแห่งการฟื้นฟูคือ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของรัฐฝ่ายใต้ซึ่งได้ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงในช่วงสงคราม การให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวแอฟริกันอเมริกันในฐานะพลเมืองอเมริกันที่เท่าเที่ยมกับคนผิวขาว และการกดขี่ปราบปรามพรรคเดโมแครตฝ่ายใต้และผู้ฝักใฝ่สมาพันธรัฐที่เหลืออยู่

ประธานาธิบดีจอห์นสันซึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งหลังจากการลอบสังหารประธานาธิบดีลินคอล์นนั้นมาจากพรรคเดโมแครต มีแนวความคิดที่เป็นกลางนั่นคือ รัฐต่างๆทางใต้นั้นไม่มีสิทธิ์ที่จะแยกตัวออกไปจัดตั้งสมาพันธรัฐฯ ดังนั้นสมาพันธรัฐฯจึงเป็นรัฐที่ไม่ถูกต้องและไม่ได้รับการรับรองแต่เริ่มแรก รัฐบาลของนายจอห์นสันมีคำสั่งให้รัฐใต้เริ่มจัดตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่และกลับเข้าร่วมกับสหรัฐให้เร็วที่สุด แต่ปรากฏว่ารัฐทางใต้ทั้งหลายยังคงระบุกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำไว้ในธรรมนูญของรัฐตน เรียกว่า กฎหมายคนผิวดำ (Black Codes) ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากให้แก่บรรดาสมาชิกพรรครีพับบลิกันหัวรุนแรง (Radical Republicans) ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาคองเกรสขณะนั้น ปฏิเสธที่จะให้ผู้แทนจากรัฐใต้กลับเข้าร่วมสภาคองเกรส และใน ค.ศ. 1866 เมื่อสภาคองเกรสพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อมอบสิทธิเสรีภาพให้แก่ชาวแอฟริกันอเมริกันในฐานะพลเมืองอเมริกันทัดเทียมกับคนผิวขาว ประธานาธิบดีจอห์นสันซึ่งไม่เป็นด้วยกับการให้สิทธิพลเมืองแก่คนผิวดำได้ใช้สิทธิของฝ่ายบริหารยับยั้งร่างรัฐบัญญัตินี้ แต่ทว่าสภาคองเกรสที่ประกอบไปด้วยพรรครีพับบลีกันได้ทำการข้าม (override) การยับยั้งของประธานาธิบดีจอห์นสันและผ่านร่างกฎหมายออกมาเป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูณข้อที่ 14 (Fourteenth Amendment) ใน ค.ศ. 1868 ให้สิทธิเสรีภาพแก่ชาวผิวดำเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างเป็นทางการ และมีการบังคับให้รัฐทางใต้ยอมรับบทบัญญัติข้อนี้เข้าไปในธรรมนูญมิฉะนั้นจะไม่รับกลับเข้าร่วมสหรัฐฯ ค.ศ. 1867 สภาคองเกรสออกรัฐบัญญัติฟื้นฟู (Reconstruction Act) โดยแบ่งมลรัฐทางใต้ออกเป็นห้าเขตทหาร (Five Military Districts) โดยให้รัฐบาลส่งกองทัพเข้าประจำพื้นที่ทางใต้เพื่อควบคุมดูแลมิให้เกิดการต่อต้านนโยบายของรัฐบาลหรือความรุนแรงต่อคนผิวดำ และเพื่อกำจัดอำนาจของพรรคเดโมเครตในรัฐทางใต้

การเลือกตั้งในค.ศ. 1869 นายพลยูลิสซิส เอส. แกรนท์ วีรบุรุษสงครามกลางเมืองชนะการเลือกตั้งในนามของพรรครีพับบลิกันและเป็นตัวแทนของฝ่ายรีพับบลีกันหัวรุนแรง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดี ในปีเดียวกันนั้นประธานาธิบดีแกรนท์ส่งกองทัพไปทำการปราบปราม คูคลักซ์คลาน (Ku Klux Klan) อันเป็นองค์กรก่อการร้ายใต้ดินที่มีเป้าหมายก่อความรุนแรงและสังหารคนผิวดำและนักการเมืองรีพับบลีกัน ในสมัยของประธานาธิบดีแกรนท์ชาวผิวดำอเมริกันมีสิทธิเสรีภาพรุ่งเรืองอย่างมาก มีการส่งเสริมให้ชาวผิวดำเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองและมีคนผิวดำเป็นผู้ว่ามลรัฐและเป็นผู้แทนในสภาคองเกรสเป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตามวิกฤตเศรษฐกิจใน ค.ศ. 1873 ทำให้รัฐบาลต้องหันความสนใจจากเรื่องคนผิวดำมาที่เรื่องเศรษฐกิจ การเลือกตั้งใน ค.ศ. 1877 มีผลการเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจน จึงเกิดการเจรจาขึ้นระหว่างทั้งสองพรรคการเมืองคือ พรรครีพับบลิกันและพรรคเดโมแครต โดยฝ่ายเดโมแครตยินยอมให้ตัวแทนจากพรรครีพับบลิกันคือ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ (Rutherford B. Hayes) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่มีข้อและเปลี่ยนว่ารัฐบาลกลางจะต้องถอนทหารทั้งหมดออกจากรัฐทางใต้ เมื่อปราศจากกำลังความคุมจากฝ่ายรีพับบลีกันทำให้พรรคเดโมแครตกลับขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งในทางตอนใต้ เป็นการสิ้นสุดสมัยแห่งการฟื้นฟู รัฐบาลระดับมลรัฐต่างๆทางตอนใต้ได้ออกกฎหมายริดรอนสิทธิของชาวแอฟริกันอีกครั้งหนึ่งเรียกว่า กฎหมายจิมโครว์ (Jim Crow Laws) โดยมีการแบ่งแยก (segregation) คนผิวขาวและคนผิวดำออกจากกันในด้านสาธารณูปโภคสาธารณะและหน้าที่การงาน ภายใต้นโยบาย"แบ่งแยกอย่างเท่าเทียม" ("Seperate but equal") ในทางปฏิบัติคนผิวดำในทางตอนใต้ตกเป็นพลเมืองชั้นสอง มีคุณภาพชีวิตที่ด้อยกว่าคนผิวขาวและถูกกีดกัดจากการปกครอง

สมัยแห่งความก้าวหน้า (ค.ศ. 1877 - ค.ศ. 1933)

สมัยแห่งความก้าวหน้า (Progressive Era) เป็นสมัยที่สหรัฐมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมขึ้นในสหรัฐ แต่เป็นสมัยที่มีปัญหาทางสังคมสูง สมัยนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สมัยแห่งทองคำเปลว (Gilded Age) ตามวรรณกรรมของมาร์ค ทเวน (Mark Twain) เรื่อง The Gilded Age: A Tale of Today. ซึ่งเปรียบความเจริญก้าวหน้าของสหรัฐในสมัยนั้นว่าเสมือนเป็นทองคำเปลวฉาบหน้าซ่อนเร้นปัญหาความเสื่อมโทรมไว้ภายใน

การปฏิวัติอุตสาหกรรมและสหภาพแรงงาน

การลงหมอนรถไฟชิ้นสุดท้าย ของเส้นทางรถไฟข้ามทวีปสายแรก (First Continental Railroad) ในค.ศ. 1869

ในสมัยแห่งความก้าวหน้าสหรัฐเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันตกเกิดอุตสาหกรรมหนักต่างๆขึ้น เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้างทางรถไฟ อุตสาหกรมถลุงแร่เหล็ก อุตสาหกรรมเหมือนถ่านหิน ฯลฯ มีการนำเครื่องจักรทันสมัยมาให้ในการผลิตทำให้ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมของอเมริกาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสหรัฐกลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งของโลก เมืองอุตสาหกรรมต่างๆเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วได้แก่ ชิคาโก คลีฟแลนด์ และพิตต์สเบิร์ก โดยมีผู้อพยพจากยุโรปและคนผิวดำจากรัฐใต้เข้ามาเป็นแรงงานหลัก มีการสร้างเส้นทางรถไฟข้ามทวีปสายแรก (First Continental Railroad) เสร็จสิ้นเปิดให้บริการใน ค.ศ. 1869 จากมิสซูรีจนถึงซานฟรานซิสโก และรัฐบาลยังให้สัมปทานบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆเพื่อสร้างทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อขนส่งระหว่างสองฟากทวีปอเมริกา เกิดบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่มีมูลค่ามากซึ่งดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันได้แก่ บริษัทยูเอสสตีล (U.S. Steel) บริษัทเจอเนอรัลอิเล็กทริค (General Electric) ก่อตั้งโดย โธมัส เอดิสัน (Thomas Edison) บริษัทสแตนดาร์ดออยล์ (Standard Oil Company) ก่อตั้งโดยนายจอห์น ดี. ร็อกกี้เฟลเลอร์ (John D. Rockefeller) ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าเกิดการค้นพบใหม่ๆ เช่น โธมัส เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟ ซามูเอล เอฟ. บี. มอร์ส (Samuel Morse) คิดค้นโทรเลข อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ประดิษฐ์โทรศัพท์ พี่น้องไรต์ (Wright Brothers) ประดิษฐ์เครื่องบิน ฯลฯ

อย่างไรก็ตามความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมนำมาซึ่งปัญหาแรงงาน บรรดาแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพต่างเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ปรับปรุงสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ โดยการเรียกร้องค่าแรงขึ้นต่ำและจำกัดเวลาในการทำงานต่อวันไม่เกิดแปดชั่วโมง ซึ่งแรงงานเหล่านั้นได้รวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน (Labor unions) ในสมัยแห่งความก้าวหน้าเกิดการประท้วงของแรงงานขึ้นหลายครั้ง ครั้งแรกใน ค.ศ. 1877 เกิดการประท้วงเส้นทางรถไฟครั้งใหญ่ (Great Railroad Strike) ต่อมาในปี ค.ศ. 1886 เกิดการประท้วงเส้นทางรถไฟตะวันตกเฉียงใต้ครั้งใหญ่ (Great Southwest Railroad Strike) และเหตุการณ์จลาจลเฮย์มาร์เกตสแควร์ (Haymarket Square Riot) ที่เมืองชิคาโก และใน ค.ศ. 1894 เกิดการประท้วงรถโดยสาร (Pullman Strike) ปัญหาแรงงานยังทำให้เกิดกระแสแนวความคิดสังคมนิยม (Socialism) ขึ้นในสหรัฐ มีการจัดตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกามีผู้นำคนสำคัญคือ ยูจีน วี. เดบส์ (Eugene V. Debs) ซึ่งรัฐบาลทุกสมัยได้พยายามปราบปรามการประท้วงของแรงงานและพรรคสังคมนิยมอย่างหนัก

การเมืองในสมัยแห่งความก้าวหน้า

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่สงครามกลางเมืองจนถึงสมัยแห่งการฟื้นฟู ทำให้เกิดระบบพรรคการเมืองที่สี่ (Fourth Party System) ขึ้น ประกอบด้วยพรรครีพับบลิกันซึ่งมีฐานเสียงส่วนใหญ่อยู่ในรัฐทางเหนือและตะวันตก และพรรคเดโมแครตซึ่งมีฐานเสียงอยู่ในมลรัฐทางใต้ โดยเฉพาะรัฐทางใต้ได้รวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลรีพับบลิกันซึ่งครองทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและเสียงข้างมากในสภาคองเกรสเกือบจะตลอดสมัยแห่งความก้าวหน้า เรียกว่า "ใต้เข้มแข็ง" ("Solid South")

แทมมานีฮอล์ (Tammany Hall) ในเมืองนิวยอร์ก สถานที่ของการทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียง

สมัยแห่งความก้าวหน้าได้ชื่อว่าเป็นสมัยที่มีความทุจริตฉ้อฉลมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ บรรดาพรรคการเมืองต่างสร้างคะแนนเสียงของตนผ่านระบบซื้อสิทธิ์ขายเสียง (Clientelism) และได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลตามเมืองใหญ่เช่นนิวยอร์ก ชิคาโก ประชาชนชั้นล่างโดยเฉพาะผู้อพยพมักจะขอความช่วยเหลือจากผู้มีอิทธิพลเหล่านั้นในด้านการหางานหรือชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งประชาชนเหล่านั้นจะตอบแทนผู้มีอิทธิพลด้วยการลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่พรรคที่ช่วยเหลือตน ระบบเช่นนี้เรียกว่า "เครื่องจักรทางการเมือง" (Political Machine) ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมืองในสมัยแห่งความก้าวหน้า เครื่องจักรทางการเมืองที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ แทมมานีฮอล์ (Tammany Hall) ในเมืองนิวยอร์ก ดำเนินการโดยนายวิลเลียม เอ็ม. ทวีด (William M. Tweed) ผู้ทรงอิทธิพลประจำเมือง นอกจากนี้นโยบายต่างๆของรัฐบาลกลางยังเอื้อต่อผลประโยชน์ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

การแผ่ขยายอาณานิคม

ยุทธการอ่าวมะนิลา ค.ศ.1898

ในสมัยแห่งความก้าวหน้ารัฐบาลพรรครีพับบลิกันได้พยายามที่จะแผ่อิทธิพลเข้าไปในลาตินอเมริกาโดยเฉพาะหมู่เกาะแคริบเบียนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาณานิคมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของจักรวรรดิสเปนซึ่งกำลังเสื่อมอำนาจลง รัฐบาลสหรัฐให้การสนับสนุนคิวบาในการเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน โดยสื่อมวลชนในสหรัฐฯเองนั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ใช้การโฆษณาชวนเชื่อ (yellow journalism) ให้ชาวอเมริกันเห็นการปกครองที่กดขี่ทารุณของสเปนในคิวบาซึ่งเป็นเรื่องราวที่ถูกปั้นแต่งขึ้น เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนในการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขต ใน ค.ศ. 1898 หลังจากที่คิวบาได้จัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเอง ประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ส่งเรือรบชื่อว่ายูเอสเอส เมน (USS Maine) ไปยังเมืองฮาวานาโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องชาวอเมริกันในคิวบา ปรากฏว่าเรือยูเอสเอส เมนถูกระเบิดโจมตีและจมลง รัฐบาลสหรัฐเข้าใจว่าเป็นการประทำของสเปนและยื่นคำขาดให้สเปนให้เอกราชแก่คิวบา ทางการสเปนจึงประกาศสงครามกับสหรัฐในที่สุดเกิดเป็น สงครามสเปน-อเมริกา (Spanish-American War)ซึ่งนอกจากคิวบาแล้วทัพเรือสหรัฐฯยังเข้าโจมตีอาณานิคมอื่นๆของสเปนได้แก่ เปอร์โตริโก ไปจนถึงเกาะกวมและฟิลิปปินส์ จอร์จ เดอเวย์ (George Dewey) นำทัพเรือสหรัฐฯเอาชนะทัพเรือสเปนในยุทธการอ่าวมะนิลา (Battle of Manila Bay) ในฟิลิปปินส์

สนธิสัญญาปารีสยุติสงครามสเปน-อเมริกา โดยสเปนสละคิวบาให้เป็นรัฐอารักขา (Protectorate) ของสหรัฐ และสละเปอร์โตริโก เกาะกวม และฟิลิปปินส์ให้เป็นอาณานิคมของสหรัฐฯเช่นกัน แต่ทว่ารัฐบาลของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Philippine Republic) ต้องการเอกราชโดยสมบูรณ์ไม่ขึ้นแก่รัฐบาลอเมริกา จึงนำไปสู่สงครามฟิลิปปินส์-อเมริกา (Philippine-American War) ใน ค.ศ. 1899

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สหรัฐ http://usliberals.about.com/od/obamavsmccainin08/a... http://www.americanheritage.com/events/articles/we... http://www.bellinghamherald.com/2013/12/11/3366498... http://www.cbsnews.com/8301-215_162-57334595/iraq-... http://www.cnbc.com/id/101402528 http://www.cnbc.com/id/40028600/I_d_Approve_TARP_A... http://money.cnn.com/2011/02/02/news/economy/tarp/... http://findarticles.com/p/articles/mi_m1584/is_n17... http://www.gallup.com/poll/165281/congress-job-app... http://abcnews.go.com/Politics/obama-lays-proposal...